เมนู

ยถา ตรุณชาติกา วเน (เหมือนแม่เนื้อลูกอ่อนในป่าฉะนั้น) อธิบายว่า
แม่เนื้อยังมีลูกเล็กดังนี้ ย่อมเสวยทุกข์ในป่า เพราะตัดความสิเนหาในลูก
ไม่ขาด ได้แก่ ไม่ล่วงพ้นความทุกข์นั้น ฉันใด แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้น เมื่อ
อยู่อย่างผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ เพราะตัดกิเลสเครื่องเกี่ยวข้องไม่ได้ ชื่อว่า ย่อม
ไม่ล่วงพ้นทุกข์ในวัฏฏะ ดังนี้ อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะว่า ตรุณวิชาติกา ก็มี.
ความก็ว่า มีลูกอ่อน ที่จะต้องทะนุถนอม. ภิกษุนั้น ฟังดังนั้นแล้วเกิดความ
สลดใจ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก.
จบอรรถกถาสังฆรักขิตเถรคาถา

10. อุสภเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระอุสภเถระ


[247] ได้ยินว่า พระอุสภเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
พฤกษชาติทั้งหลายบนยอดเขา ที่ถูกน้ำฝนใหม่
ตกรดแล้ว ย่อมงอกงาม จิตอันควรแก่ภาวนา ย่อม
เกิดทวีขึ้นแก่เรา ผู้ชื่อว่าอุสภะ ผู้ใคร่ต่อวิเวก ผู้มี
ความสำคัญในป่า.

จบวรรคที่ 11

อรรถกถาอุสภเถรคาถา


คาถาของท่านพระอุสภเถระเริ่มต้นว่า นคา นคคฺเคสุ สุสํวิรุฬฺหา.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ กระทำบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้น ๆ เกิดเป็น
เทพบุตรในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ในกัปที่ 31
แต่ภัทรกัปนี้ วันหนึ่งเห็นพระศาสดาแล้ว เป็นผู้มีใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชา
ด้วยดอกไม้ทิพย์ การบูชาด้วยดอกไม้นั้น ได้ตั้งอยู่โดยอาการดังมณฑปดอกไม้
ตลอด 7 วัน. เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้มีการประชุมเป็นมหาสมาคม.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิด
ในตระกูลของผู้มั่งคั่ง แคว้นโกศลในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า อุสภะ. เขา
ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เป็นผู้มีความเลื่อมใสอันได้แล้วในพระศาสดา ใน
คราวรับมอบพระวิหารชื่อว่า เชตวัน บรรพชาแล้ว กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว
อยู่ที่เชิงเขาในป่า. ก็โดยสมัยนั้น เมื่อเมฆในฤดูฝนพัดผ่านทำให้ฝนตกลงมา
กองใบไม้ที่สุมกันจนหนาทึบ เพราะเครือเถาของกิ่งไม้ จะมี (กองอยู่) ที่ยอดเขา
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระเถระออกจากถ้ำ มองเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ และภูเขา
ที่น่ารื่นรมย์นั้นแล้ว คิดอยู่โดยโยนิโสมนสิการว่า ธรรมชาติมีต้นไม้เป็น
ชื่อแม้เช่นนี้ หาเจตนามิได้ ย่อมถึงความเจริญงอกงาม เพราะความสมบูรณ์
ของฤดู เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไฉน เราได้ฤดูเป็นที่สบายแล้ว จักไม่เจริญด้วย
คุณธรรมทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาว่า